ธุดงค์เถื่อน

ธุดงค์เถื่อน ธุดงค์เถื่อน

ธุดงค์ แปลว่า องค์แห่งการละกิเลส
ที่ว่าเถื่อน เพราะบวชได้เดือนเดียวก็ออกธุดงค์เลย ใบสุทธิก็ยังไม่ได้ทำบัตรประชาชนทางโลกก็ไม่มี ไม่มีหลักฐานอะไรเลย ไปตั้งต้นเดินที่อำเภอจุน จังหวัดพะเยา เดินไปครึ่งวัน ถูกรองเท้าตัวเองกัด จึงถอดเหน็บติดย่ามไว้ เดินไปถึงตอนบ่าย บ่าเจ็บ บริขารเริ่มหนักหาที่พักข้างทาง ตรวจดูบริขารที่ไม่จำเป็นจึงเอาออก รวมถึงรองเท้าด้วย ไม่เอามันละ หยิบวางไว้ข้างทาง ถ้ามีใครมาพบเจอก็เอาไปเถอะ เราสละแล้ว ไม่เป็นโทษ

พอใกล้ค่ำ มองหาที่พัก ได้วัดแห่งหนึ่งพออาศัยสรงน้ำ ปักกลดเสร็จ แล้วนั่งพิจารณาตนเองถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งวัน...เริ่มเห็นทุกข์ 

> บ่า + เท้าแตก – พอง ทุกข์เพราะสังขารร่างกาย
> บริขารหนัก รุงรัง ทุกข์ เพราะความโลภสัมภาระ

จึงเริ่มรู้จักที่จะต้องละสละสิ่งที่ไม่จำเป็นออกเสีย จิตจึงอุทานขึ้นว่า...อ๊อ! นี่แหละ… ที่เรียกว่า “ธุดงค์” ล่ะเกิดความปิติอยู่ขณะหนึ่ง ซาบซึ้งในคุณของธุดงค์ยิ่งขึ้น ทำให้มีกำลังใจที่จะเดินต่อไปในวันพรุ่งนี้ ในแต่ละวัน จะมีกำลังใจให้เกิดขึ้นจากการพิจารณาในแต่ละเรื่องๆ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจึงทำให้หายเหนื่อย และไม่ท้อแท้ที่จะเดินต่อไป ทั้งๆ ที่จริงแล้วมันช่างทุกข์เหลือทน บางวันก็อยู่ด้วยการปลอบใจตนเองว่า “ลำบากแล้วได้บุญ ดีกว่าสบายแล้วไม่ได้อะไรเลย” สังขารร่างกายมีไว้ให้ใช้ตอนเป็น ตายไปใช้ไม่ได้ เลยรีบใช้ให้คุ้ม

เอาเถอะ! ลำบากเสียชาตินี้ จะได้ไม่กลับมาเกิดให้ลำบากอีกต่อไป...สารพัดอุบายที่ผุดขึ้นในจิต จึงได้คิดขึ้นว่า...นี่แหละ เหตุที่พระศาสดาให้เราเดินดงจะได้เห็นทุกข์เมื่อเห็นทุกข์ ปัญญาจึงเกิดขึ้น  “ไม่ทำเหตุ-จะเกิดผลได้หรือ?” ก็เลยชอบที่จะอยู่ตามป่าเขาลำเนาดงเรื่อยๆ มา หลายเดือน เป็นปี เห็นความอัศจรรย์ในพระธรรมยิ่งขึ้น จึงเดินธุดงค์จะไปอินเดีย ไปถึงชายแดนแม่สายจังหวัดเชียงราย ไปยืนดูอยู่ห่างๆ ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เห็นมีการยื่นเอกสารต่างๆ นานา หลายใบจึงเดินไปถามเจ้าหน้าที่...

> ถ้าพระจะไปต้องมีเอกสารเหล่านั้นมั้ย ?
> ต้องใช้ครับ ! สำคัญในฝั่งพม่า เคยมีพระถูกจับขังตัว

จึงรู้ตัวเราเองดีว่า “ธุดงค์เถื่อน” ไม่มีอะไรซักอย่าง ! ในที่สุดก็เลยวาง “ไปไม่ได้ ก็ไม่ไป”

ป.ล. หลังจากนั้นมา พ.ศ. ๒๕๔๗ มีโยมถวายตั๋วเครื่องบินให้ ก็เลยได้ไป เมื่อครั้ง พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มาจำพรรษาที่ประเทศอินเดีย ตั้งแต่นั้น ญาติธรรม นิมนต์ไปทุกปีเพื่อนมัสการสัสงเวชนีย ๔ สถาน

ที่มา : จากหนังสือที่พึ่งหนึ่งเดียว