คิดเป็น เห็นธรรม

คิดเป็น เห็นธรรม คิดเป็น เห็นธรรม

วางเสียง...วางเสีย ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน

  • 2024,Apr 20
  • 2936

ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน อย่าไปเกลียด อย่าไปชอบ แต่จะไม่ให้ได้ยินนั้น ในเมื่อมันไม่หนวกมันย่อมได้ยิน การที่ไม่หนวกดีหรือชั่ว...ดี ในเมื่อดีแล้วไปได้ยินเข้า อย่าโกรธอย่ารำคาญอย่ารังเกียจในเสียงที่ได้ยิน เสียงเพราะก็ดีเสียงไม่ไพเราะก็ดี ห้ามใส่ความหมายว่าชอบว่าชัง ขออย่างเดียวว่ามันมาให้ได้ยินก็ได้ยินเฉยๆ จะบอกว่าดีเนอะอยากได้ยินอีก ไม่ดีเนอะอย่าให้มาได้ยินอีก ไม่ให้คิดเช่นนั้น

...

จะฝึกสักแต่ว่าได้ยินต้องคิดอย่างนี้ มันก็เลยต้องมีปัญญา มีปัญญาจะทำอย่างไรกับสิ่งที่มันมาผัสสะมาสัมผัสกับหู ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นน่ะเราไม่ชอบ จะทำอย่างไรให้มันไม่ชอบ จะทำอย่างไรให้มันไม่ชัง จะทำอย่างไรให้มันเฉยๆ ก็เลยต้องสมมุติขึ้นมาในเสียงทั้งหลายเหล่านั้น โดยใช้ปัญญาของเรานี่แหละที่จะไปบอกกับตัวเองให้ได้ว่า เสียงน่ะมันสักแต่ว่าเสียง (จริงๆ มันก็มีเสียงสูงเสียงต่ำ) อย่าใส่ความหมายมัน ว่านี่คำด่า นี่คำสาปแช่ง ว่านี่คำนินทา ว่านี่คำส่อเสียด เอาเป็นว่าโชคดีจังเลยเรานี่เกิดมาหูไม่หนวก เลยได้ยินคนพูดทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ได้ยินคนพูดทั้งที่จริงทั้งที่เท็จ ได้ยินคนพูดทั้งมีสาระและไร้สาระ เออ... ประโยชน์จากการหูไม่หนวกนี่ดีจังหนอ

..

แต่ถ้าไปใส่อารมณ์กับเสียงเหล่านี้ เท่ากับหูที่ไม่หนวกนี่กลายเป็นโทษกับเจ้าของ เป็นเหตุเพราะหูดีสิ ฟังรู้เรื่องรู้ความหมายก็เลยไปโกรธในความหมายที่หยาบคายนั้นเข้า ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวเศร้าหมอง ไอ้ตอนนี้คนหูดีประเภทนี้จะแพ้คนหูหนวก ด้วยว่าคนหูหนวกไม่ได้ยินประโยคเหล่านี้ว่าเขาด่าเขาแช่ง อารมณ์ก็เลยไม่ได้ขุ่นมัว จิตก็เลยผ่องใสอยู่ คนหูหนวกก็เลยกลายเป็นว่าดีกว่าเราไปซะแล้วเรากลับหูดีแต่เป็นพิษเป็นภัยกับใจของเจ้าของนี่ ไม่ควรมั้ง ไม่ถูกล่ะมั้ง

...

อุบายที่จะวางเสียงนั้น คือวางด้วยปัญญาอย่างนี้ อีกวิธีหนึ่งถ้าไม่ไหวจริงๆ เดินหนีไปเสียอย่าให้ได้ยิน เอาสำลี เอาใบไม้ หรือเอาผ้าอุดมันไว้ ไม่ต้องหนีไปไหน วิธีแรกใช้ขาเดินหนีมันไป อีกวิธีหนึ่งขี้เกียจเดินให้เมื่ออย หาอะไรมาอุดหูไว้ไม่ให้เสียงเข้าไปได้ ขาไม่ต้องเหนื่อยเดิน นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะให้ไม่ได้ยินเสียง แต่วิธีนั้นท่านว่ามันหยาบไป

...

เราจะต้องฝึกให้อยู่กับเสียงทั้งหลายเหล่านั้นให้ได้ โดยไม่ต้องเดินหนีเหมือนประการแรก หรือโดยไม่ต้องอุดหูเหมือนประการที่สอง ยังคงนิ่งเฉยอยู่่อย่างนั้นเดินหนีก็ไม่ใช่ อุดหูให้ไม่ได้ยินเสียงก็ไม่ใช่ ก็ได้ยินอยู่ก็อยู่ตรงนั้น ไม่ได้หนีไปไหน แต่ใจก็ไม่ได้โกรธ ไม่ได้เสวยความชอบความชังในเสียงนั้นเลย

...

พวกนี้เก่ง ประเภทนี้เก่ง ไม่ต้องวุ่นวายในการหาวิธีหลบหลีก เหมือนกับสองประการแรก แต่อยู่เฉยๆ นี่แหละ เหมือนเราไม่ได้ยินเสียงนี้ อีกนัยยะหนึ่งว่า เหมือนหูเราหนวก เหมือนเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ หรือเหมือนว่าเราตายไปแล้ว หรือเหมือนว่าเรายังไม่ได้มาเกิด ประโยคเหล่านั้นจะไม่มีอิทธิพลต่อจิตใจเราเลย การทำอย่างนี้เรียกว่า มีปัญญาดับทุกข์ สดๆ กันอย่างนี้เลย ปัญญาดับทุกข์ ปัญญาดับสุข

...

สุขไปดับมันทำไมเล่า ? ได้ยินที่ดีที่ชอบแล้วต้องดับด้วยหรือ ? เพราะอีกประเดี๋ยวเสียงที่ชอบจะหยุดแล้ว มันจะจบเพลงแล้ว มันจะหายไปแล้ว พอมันหายไป ถ้าเกิดแกชอบอยู่ล่ะก็ แกจะต้องเสียใจ ไม่อยากให้มันหาย นั่นแหละคือเสียใจ จะเสียใจน้อยก็เรียกว่าเสียใจ จะเสียใจมากยิ่งหนักใหญ่ นั่นแหละคือโทษของการไปชอบ ก็เลยไม่อยากจาก ไม่อยากพรากในเสียงนั้น

...

ไอ้ที่ชอบน่ะ สุขหรือทุกข์ล่ะ ? สุขเขาล่ะ แต่มันหยุดปั๊ปกลายเป็นทุกข์เลย จะเอาอี๊กจะเอาอีก (ใช้คำแสลงเหมือนวัยรุ่นทั้งหลายใช้กัน) เพลงมันจบแต่คนไม่อยากให้จบ เอาอี๊ก เอาอีก อยู่อย่างนั้น ถ้าไม่ให้มันอีกมันทุกข์นะ แหม...ขอก็ไม่ได้ เอาอีกก็ไม่ให้ เห็นไหมไปติดสุขเข้า

...

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้วางหมด สุขก็วาง ทุกข์ก็วาง โดยไม่ต้องหนีไปทางไหน ก็ยังคงอยู่บนโลกใบนี้ แต่อยู่โดยไม่เสวยซึ่งความชอบความชัง ตรงนี้ต้องใช้คำว่าอุเบกขา คือการวางเฉยเสีย ไม่ต้องเหนื่อยเดินหนี ไม่ต้องทุรนทุรายหาสำลีหาผ้าหาดินมาอุด หนีทางจิต หนีด้วยปัญญาอย่างนี้ ฝึกได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน (อายตนะหู) เอามาพิจารณาว่าอันนี้เป็นบุญ อันนี้เป็นบาป อันเป็นกุศลอกุศล แล้วก็เฉยซะ แล้วก็นิ่งเสีย จบกัน ...

บรรยายธรรมเมื่อ มิิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗