เมื่อความทุกข์มี เราจึงต้องหาวิธีพ้นทุกข์ ถ้าใครยังไม่เห็นทุกข์ แสดงว่าปัญญายังไม่มี ด้วยเพราะทุกข์มีให้เห็นได้ด้วยตาได้ยินด้วยหูสัมผัสด้วยกาย แค่ชื่อโรคภัยในขณะที่เป็นชื่อโบราณนี่ก็มากมายไม่ต่ำกว่าร้อยชนิด เฉพาะโรคตานี่ก็หลายต้อ ต้อหิน ต้อกระจก ต้อลม หูก็มีสารพัด หูตึง หูหนวก หูเป็นน้ำหนอง แก้วหูเยื่อในหู ไหนจะฟันอีก ไหนจะหัวใจภายในมากมาย ทุกข์ทั้งนั้น แล้วยังไม่เห็นทุกข์อีก แสดงว่ายังไม่ได้ฟังธรรมะ ยังไม่ได้ฟังความจริง ก็เลยยังมองเห็นแต่ความสุขที่ได้มาเป็นมนุษย์
...
พระพุทธเจ้าท่านสอน คิดให้ลึกๆ คิดให้ละเอียด หรือที่เรียกว่าวิปัสสนานั่นล่ะ คิดตรึกตรอง ไตร่ตรองใคร่ครวญ แยกแยะ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ใช้ปัญญา ไตร่ตรอง ตรึกตรอง ใคร่ครวญก็ใช้ปัญญา (ธัมมวิจยะ) ใช้ปัญญา จะว่าคนยุคนี้เรียนหนังสือกันเก่งๆ ถูกบังคับให้เรียนกันตั้งแต่เด็ก เรียนกันได้หลายวิชาสาขา เรียนเลยธรรมะเลยความจริงไป ทำให้ไม่รู้ซึ่งความทุกข์ทั้งหลายที่ตัวเองประสพอยู่ ก็แปลว่าไปเจอกับทุกข์แบบใหม่ ทุกข์ที่เรียนไม่จบ ทุกข์ที่อยากจะเรียนแล้วไม่ได้เรียน บางคนขยันเรียนไม่ใช่ขี้เกียจเรียน แต่ไม่มีสตางค์ให้เรียน ไม่มีโอกาสได้เรียน นั่นก็ทุกข์ ที่บอกว่าทุกข์ร้อยแปด ต้องคูณไปอีกเยอะเลย มันมากกว่า ต้องเติมไปเป็นร้อยแปดพันเก้า สารพัดทุกข์นั่นเองรวมแล้ว จะใช้สำนวนใดก็ตาม สารพัดทุกข์
...
วันหนึ่งจะไม่เห็นทุกข์ไม่มี ถึงไม่อยากเห็นมันก็มาให้เห็น คนที่มีสติอยู่กับตัวจะเห็น ไม่ได้ไปหามันหรอก นั่งอยู่กุฏินั่นแหละสารพัดชนิดก็จะได้เห็น ทุกข์ของเราก็ดี ของคนอื่นก็ไม่ได้ต่างกันเช่นเดียวกัน ไม่ต้องรอให้เกิดทุกข์ที่ตัวเราหรอก แม้ทุกข์ที่ตัวคนอื่น เราเอามาพิจารณาก็ทำให้เกิดการเบื่อหน่าย สลดสังเวช สมเพชในกายสังขาร เหมือนกัน เหมือนขอยืมทุกข์ของคนอื่นมาพิจารณาจนเบื่อหน่ายไม่อยากเกิด ไม่มีครัวไม่มีเรือน พิจารณาถึงความทุกข์ของคนมีครัวมีเรือนที่มีให้เห็น ก็ทุกข์แล้ว ทราบข่าวทะเลาะเบาะแว้งกัน ถึงขนาดเข่นฆ่ากันเอง แย่งทรัพย์กันเอง ประณามกันเอง ทุกข์แล้ว ไม่ต้องรอเป็นคู่กรณีหรอก พิจารณาแล้วโอ้หนอ เขาก็ต้องทุกข์กันแน่เลย ใครผิดล่ะ ไม่มีใครผิดหรอก เขาก็ทุกข์ด้วยกันทั้งคู่
...
มันไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นทุกข์ของเราเอง ของคนอื่นพิจารณาอยู่เนืองๆ อยู่เนืองๆ นี่ก็สลดสังเวช สมเพช ทำไมมนุษย์เป็นอย่างนี้ ชื่อว่าคนทำไมมันคนแท้ๆ คนไปคนมา เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ยืนยันกันไม่ได้เลย คนที่ดีก็ยังยืนยันไม่ได้ตราบใดยังไม่ตาย จะไปทำชั่ววันไหนก็ไม่รู้มัน คนที่ชั่วตราบใดที่ยังไม่ตายไม่แน่จะกลายเป็นคนดีเลอเลิศกลับจิตกลับใจได้ ก็ได้
...
ทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บส่วนหนึ่ง ทุกข์จากมนุษย์ด้วยกันเบียดเบียนกันเองอีกส่วนหนึ่ง โรคภัยไม่เบียดเบียนแทนที่จะได้ความสุข เปล่าอีก ร่างกายแข็งแรงดี กำลังเหลือ ไปเบียดเบียนกันเอง ก็เลยว่าโอ้…ทุกข์ภายนอก ทุกข์ภายใน ทุกข์ใกล้ ทุกข์ไกล สารพัดทุกข์แท้ๆ นั่นแหละ ต้องคิดอย่างนี้มันถึงอยากจะหนี แรงผลักดันที่จะให้หนีมันมาจากตรงนี้ จากการพิจารณาเห็นทุกข์นี่แหละ อย่าไปเข้าใจว่า โอ้…อย่าไปคิดมากปล่อยวางซะบ้างเหอะ ฮึ…อย่าใช้คำว่าปล่อยวางผิดเรื่องผิดราว อย่าปล่อยวางซึ่งปัญญา อย่าปล่อยวางซึ่งวิปัสสนา อย่าปล่อยวางโพชฌงค์ ธัมมวิจยะ อย่าปล่อยวางสติ สติปล่อยวางได้ที่ไหนเล่า ? ฮึ…เขาบอกให้ปล่อยวาง ฉันเลยไม่ได้สนใจอะไรมัน ไม่จำเป็นหรอกต้องรู้อะไร ไม่ใช่ รู้ก่อน รู้ละเอียดถี่ถ้วนแล้วมันวางจริงๆ ถ้ายังไม่รู้อะไรเลยแล้ววางแล้วนี่ เขาเรียกละเลยต่างหากไม่ใช่อุเบกขา
...
เลยว่าให้พิจารณาร่างกายนี่แหละ เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ ผมขนเล็บฟันหนัง หนังฟันเล็บขนผม เป็นการเห็นทุกข์เบื้องต้น การที่จะเห็นทุกข์แตกฉานไปขนาดไหนมันเริ่มจากตรงนี้ ทำตรงนี้มากๆ ทำอยู่อย่างเดียวก็ได้ แล้วอย่างอื่นไม่ต้องคิดหรือ เอาเถอะมันลามไปคิดเองอัตโนมัติ มันแตกฉาน แตกของที่มันแตกมันก็จะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระเด็นกระดอนไปเองทุกแง่ทุกมุมของความทุกข์ของเรื่องราว
...
ขอให้มันแตก ทุบตรงนี้ให้แตก แล้วมันจะกระจายไปเอง ปัญญาจะขยายไปเอง ทำอยู่ตรงนี้ทุบอยู่ที่เดียวแล้วมันก็จะกระจายไปทุกที่ ยิ่งทุบละเอียดมันยิ่งกระเด็นไปได้ทุกซอกทุกมุม เพราะสิ่งที่มันแตกมันเริ่มละเอียดลง ละเอียดย่อยลงมันก็เบาขึ้นเบาขึ้น แม้กระทั่งลมพัดไปมันก็ยังไปได้ ถ้าชิ้นใหญ่มันก็อาจจะไปได้ใกล้ แต่ถ้าทุบละเอียดเป็นฝุ่นเป็นธุลียิ่งไปไกลทุกซอกทุกมุมเข้าถึงหมด แตกฉาน ประโยชน์ของการละเอียดในการพิจารณาในขณะที่สร้างบุญสร้างบารมีทั้งหลายต้องปล่อยวางในสิ่งที่ผิด ที่ชั่ว ที่ไม่ใช่ หรือเรียกว่าเป็นมิฉาทิฏฐิ ความเห็นที่ผิดๆ ทั้งหลายต้องวาง...วางให้ได้
บรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒