คิดเป็น เห็นธรรม

คิดเป็น เห็นธรรม คิดเป็น เห็นธรรม

ฝึกนึก ฝึกคิด ไม่ให้จิตขุ่นมัว

  • 2024,Nov 21
  • 3361

เรื่องคนอื่นๆ วาง การที่จะไม่ให้สนใจใดๆ ก็ต้องฝึก จิตดวงนี้ที่มันไม่ดี ก็ตรงที่มันชอบไปนึก ไปยึด ไปเอาเรื่องอื่นๆ มาวุ่นวาย เรื่องคนบ้าง เรื่องอะไรบ้างก็ไม่รู้มัน ไปยึด ไปเอามาทุกข์ เรียกว่ายึด

...

แต่รู้ล่ะว่าไม่ได้เอามันมาเป็นทุกข์ ว่าเออนั่นแหละธรรมชาติมัน มันรู้หมดว่าใครดีใครชั่ว ใครเป็นใครตาย ใครถูกใครผิด แต่อย่าเอามายึดมาติด อย่าเอามาคิดให้เป็นทุกข์ เรื่องของเรื่องมันอยู่ตรงนี้ ไปได้ยินเรื่องคนอื่นๆ ก็เอามาเก็บมาคิดเป็นทุกข์ ก็เลยฝึกที่จะไม่ให้มันทุกข์ ถ้าไม่ฝึกมันก็เอามาทุกข์ทั้งหมดตามอารมณ์มัน ลมๆ แล้งๆ เรื่องสัพเพเหระก็เอามาทุกข์

...

แล้วมันมีโทษ จากการที่ไปเอาสิ่งทั้งหลายมาเป็นทุกข์ น่ะมันเป็นโทษ ทำให้จิตของเรานี้อ่อนแอไม่มีพลัง จิตเสื่อม จิตตก จิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ตายไปตกต่ำ จิตชนิดนั้นแหละเรียกว่า จิตไม่มีบุญ จิตตกต่ำ บุญอาจจะทำไว้ก็ได้นะ แต่ในขณะที่มันตกต่ำน่ะมันไม่มีบุญ มันเอาเรื่องอื่นๆ มาคิดให้ทุกข์ให้ขุ่นมัว แทนที่ว่าเรื่องความดีทั้งหลายแหล่มากมายที่ทำไว้ กลับไม่เอามาคิด ไม่เอามานึกให้จรรโลงใจ ให้มีความอิ่มเอิบผ่องใส

...

ก็เลยว่าต้องทำความดีเอาไว้ให้มั่นใจ มันถึงจะเอามานึกมาคิดได้ ไม่ไปหมกมุ่นกับสิ่งที่มันขุ่นมัวเศร้าหมอง ฝึกนึกฝึกคิดเสียใหม่ นึกคิดไม่ให้จิตขุ่นมัว ตรงข้ามทำอย่างไรให้จิตเราผ่องใส เป็นหน้าที่ของเจ้าของเอง ที่ทำตัวเองให้ผ่องใส แต่นี้ไม่รู้ว่ามันไปติดเชื้อใครมา คนขี้คิด ขี้กังวล ขี้ห่วง เขาเรียกว่าคนดี คนเอาใจใส่ดี เอาใจใส่คนโน้น เอาใจใส่คนนี้ จนไม่เห็นหัวของตัวเอง
นึกว่าดี ไม่ดีหรอก

...

แล้วมันก็มีมานานแล้ว ค่านิยมแบบนี้ มีมาทุกยุคทุกสมัยเลย ตั้งแต่ก่อนพุทธกาลจนถึงพุทธกาลก็มีแบบนี้ พระพุทธเจ้าจึงต้องเอามาฝึก มีญาติก็จะต้องทุกข์กับญาตินั่นแหละ จะญาติใกล้ญาติไกลแล้วแต่ ห่วงพ่อห่วงแม่ ตอนพ่อแม่อยู่ก็ห่วงปู่ห่วงย่าว่าไป มีทรัพย์ก็ห่วงทรัพย์ มีงานก็ห่วงงาน หวาดระแวงเกรงกลัวห่วงหวงไปหมด มันอัตโนมัติเลย ไม่รู้ว่าถูกสั่งสอนตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหนก็ไม่รู้มัน ไอ้ห่วงไอ้กังวลเนี่ย

...

ทำไมไม่ให้มันเป็นเรื่องที่ผ่านไป วันหนึ่งคืนหนึ่ง วันหนึ่งคืนหนึ่ง วันหนึ่งคืนหนึ่ง ทำวันนี้ดีที่สุด พรุ่งนี้ดีเอง เมื่อวานนี้มันไม่ดี แก้ไขอะไรไม่ได้ ช่วยไม่ได้ วันนี้ทำให้ดีที่สุด เมื่อวานขุ่นมัว มันขุ่นไปแล้ว วันนี้อย่าให้ขุ่นมัว ประคองจิตวันนี้ให้ผ่องใสให้ได้มากที่สุด งานมันจะยุ่ง งานมันจะมาก ปัญหามันจะมี จะแก้ได้หรือไม่ได้ ก็อย่าให้จิตขุ่นมัว แยกให้ถูก แยกจิตแยกงาน แยกจิตแยกกาย กายมันทำงานก็ช่างมันสิ งานจะหนักงานจะยากงานจะมาก จะสำเร็จไม่สำเร็จเรื่องของงาน แต่จิตอย่าให้ขุ่นมัว แยกให้ถูก

...

ท่านจึงได้สอน แยกรูป แยกนาม แยกกาย แยกจิต แยกกันให้ชัดเจน ถ้าไม่มีปัญญามันปนกันไปหมดนะ ทุกข์จากอีกเรื่องหนึ่งก็ไปพาลอีกคนก็ได้ ส่วนมากมันเป็นอย่างนี้ล่ะมนุษย์น่ะ ขุ่นมัวจากอีกเรื่องหนึ่ง พาลพาโลโฉเกไปอีกหลายเรื่องเลยก็ได้ อารมณ์เสียจากเรื่องนั้นมา ก็เลยไปเสียกับเรื่องอื่นๆ ทั้งวัน

...

คนคิดไม่เป็น คนไม่ระมัดระวังจิต คนโง่ คนไม่ฉลาด ไม่สามารถรักษาจิตให้ผ่องใสได้ ถ้าใครเขาว่าอย่างนี้อย่าโกรธนะ ถ้าฉลาดต้องทำจิตของตัวเองให้ผ่องใสให้ได้ ทั้งที่เรื่องมันน่าจะโกรธ น่าจะโมโห น่าจะขุ่นมัว เขากลับไม่ขุ่นมัว ไม่โมโห ไม่โกรธ น่าชื่นชมว่าเป็นคนที่เก่ง

บรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗