คิดเป็น เห็นธรรม

คิดเป็น เห็นธรรม คิดเป็น เห็นธรรม

"พระปริตร" มนต์กัน...ภัยร้าย...ภัยชีวิต

  • 2024,Nov 23
  • 3497

ปริตรสุตตัง แปลว่า เครื่องป้องกันภัย อาเพศ เหตุพิบัติทั้งหลาย สิ่งที่ใช้ในการป้องกันนี้ไม่เป็นวัตถุ ไม่มีรูปร่าง มองเห็นไม่ได้ด้วยตาเนื้อ เป็นเพียงเสียงที่สาธยายออกมา เสียงไม่มีรูปร่างแต่มีพลังงาน การที่ได้เปล่งออกมาแล้วทำให้เราได้ยินในเสียงหรือพลังเสียงนั้นๆ คนที่ได้ยินได้ฟังจะมีพลัง

...

เหตุที่ต้องพูดให้ฟังอย่างนี้เพราะไม่อย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นนกแก้วนกขุนทอง หาว่าเราทำในสิ่งที่งมงายไม่เห็นตัวเห็นตากัน หลับหูหลับตาสวดกันไป เพื่อป้องกันความคิดความนึกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างนี้ จึงต้องอรรถาธิบาย เพราะจิตที่เข้าใจแล้วจึงอยากจะฟังอยากจะสวด คำว่าอยากนี้เป็นภาษาพื้นเมือง ถ้าภาษาพระพุทธเจ้าแปลว่า ศรัทธา แปลว่าความเลื่อมใส แปลว่าความนับถือ ให้สวดด้วยความนับถือ ให้ฟังด้วยความนับถือ กิริยาอาการในการสวดจะได้สำรวม จะได้สุภาพ คำสวดอย่างเดียวไม่เพียงพอดอกหรือ ไม่พอ ต้องบวกกับความศรัทธา ความตั้งมั่น ความเชื่อในการที่สวดด้วย

...

ทำ (สวด) เพื่ออะไร เหตุใดจึงทำ แล้วทำไมที่นี่ทำ ที่โน่นไม่มีทำ พระพุทธเจ้าไม่ได้กล่าวไว้เหมือนกันดอกหรือ กล่าวน่ะท่านกล่าวไว้ซึ่งปริตรเหล่านี้ซึ่งมนต์กันภัยทั้งหลายเหล่านี้ แต่เมื่อท่านกล่าวแล้ว ก็แล้วแต่มนุษย์รุ่นหลังๆ นี้ว่า ใครจะขยันกล่าว ใครจะขี้เกียจกล่าว บ้างกล่าวเป็นบ้างกล่าวไม่เป็น บ้างอยากที่จะกล่าว บ้างไม่สนใจที่อยากที่จะกล่าวจะฟัง มันก็ต่างๆ กันไป

...

แต่ระหว่างการกล่าวกับการไม่กล่าวสิ่งใดเป็นบุญสิ่งใดเป็นบาป การกระทำซึ่งการกล่าวนั้นถือว่าเป็นฝ่ายของกุศล เป็นฝ่ายของบุญ ผู้กล่าวย่อมเกิดกุศล ผู้กล่าวย่อมได้บุญ สำหรับผู้ที่ขี้เกียจกล่าวหรือไม่ชอบกล่าว หรือดูหมิ่นเหยียดหยามในผู้ที่กล่าว ถือว่าเป็นอกุศล ถือว่าเป็นฝ่ายบาป ฝ่ายชั่ว

...

จึงต้องทำด้วยความศรัทธา ความเสื่อมใส ความเข้าใจกันเสียก่อน อย่างน้อยก็จะได้ไม่ถูกตำหนิติเตียน หรือว่ามีข้อโต้แย้งจากมนุษย์ที่ตำหนิว่างมงาย ว่าเพ้อเจ้อ หรือว่าสวดกันแบบหลับหูหลับตาหารู้ในความหมาย หารู้ในประโยชน์ทั้งหลายไม่

...

รู้ มี ความหมายมี ความหมายดีทั้งนั้นทุกบท แต่ในขณะที่สวด โบราณบันทิตพ่อแม่ครูบาอาจารย์แต่พุทธกาลบอกไว้ว่า ให้กล่าวเฉพาะภาษาบาลี อย่าเอาไปแปลเป็นภาษาอื่นๆ นั่นแสดงว่าต้องการให้กล่าวที่ตรงกัน เหมือนกัน คือให้คงความเป็นบาลีไว้นั่นเอง ก็เลยไม่ได้สวดบาลีคำนึงแปลเป็นไทยคำนึงเหมือนดังที่เราสวดมนต์ (ทำวัตร)​กัน

...

การสวดปริตร เป็นการกล่าวสัจจะความจริงทั้งหลาย "เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เม ชะยะมังคะลัง" เป็นคำที่เป็นชัยชนะมารทั้งหลายของพระพุทธเจ้า เป็นการที่พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายชนะกิเลสทั้งปวงมา มนต์เหล่านี้คำกล่าวเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิริแก่ผู้กล่าว ไม่ใช่คำหยาบคาย ล้วนเป็นคำไพเราะ ถ้ารู้ความหมายรู้ในคำแปล จะอู้ย..เรานี้ได้กล่าวถึงผู้ประเสริฐเลิศโลกถึงเพียงนี้เชียวหนอนี่

...

ดังนั้นจึงว่าในการเกิดอาเพศ เหตุภัย หรือเกิดความเดือนร้อนขึ้นแก่การดำเนินวิถีชีวิต หรือว่าชีวิตของเรากำลังประสบพบกับภัยพิบัติใดภัยพิบัติหนึ่ง ไม่รู้จะเอาอะไรมาเป็นข้ออ้าง นี่แหละเรามีสิทธิ์ที่จะกล่าวอ้างถึงสัจจะคำจริงทั้งหลายในบทของปริตรเหล่านี้ เอามาต้านทานมันได้ ซึ่งสิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันก็คือพระพุทธเจ้า ท่านได้เอาสัจจะเหล่านั้นที่ท่านเคยใช้แล้วเกิดประโยชน์ขึ้นมา เอามาเป็นบทปริตรเอามาเป็นบทกันภัย

...

ท่านเอาบทกันภัยในอดีตชาติของท่าน มาบอกกล่าวแก่พวกเรา ย้อนถอยหลังตั้งแต่ท่านยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า ท่านรอดภัยทั้งหลายมาได้ในบางชาตินั้น ด้วยการกล่าวสัจจะด้วยการกล่าวคำจริง บางชาติท่านเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานด้วยซ้ำไป แต่เดรัจฉานในยุคนั้นรู้สัจจะ รู้ภาษามนุษย์ พูดภาษามนุษย์ได้

...

ตัวอย่างเช่น ชาติหนึ่งท่านเกิดเป็นนก พ่อแม่ฟักไข่ออกมาเป็นตัวเป็นลูกนก แต่ยังบินไม่ได้ พ่อแม่ออกไปหากิน ปรากฎว่าไฟป่าลุกลามมาถึงยังต้นไม้ที่รังของท่านอาศัยอยู่ ได้กลิ่นควันเขม่าไฟกระไอกระจาม ชะโงกคอดูออกมานอกรัง เห็นไฟเห็นเพลิงลุกไหม้ลามมาอยู่ เหตุที่ได้กลิ่นลมกลิ่นไฟเพราะลมพัดมาทางด้านหลัง ก็แสดงว่ามันพาไฟมาทางนี้ ไฟพาใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ท่านไม่รู้จะทำอย่างไร พ่อไม่อยู่แม่ก็ไม่อยู่ มีพ่อก็มีแม่ก็มีแต่ก็ไม่สามารถจะช่วยได้ เพราะท่านไม่อยู่ ในที่สุดเรา (ลูกนก) ก็เลยได้ลั่นสัจจะ กล่าวสัจจะว่า

...

หมู่เทพเจ้าเหล่าเทวดาทั้งหลายเอ๋ย ไฟทั้งปวงเอ๋ย ขาเราก็มี แต่ยังเดินไม่ได้ ปีกเราก็มี แต่ยังไม่แข็งแรงพอที่จะบินได้ แม้พ่อแม้แม่เราก็มี แต่ก็ไปอยู่ที่อื่นเสียแไปหาอาหารไปหาน้ำมาให้เรากินเสีย ตอนนี้ไม่มีสิ่งใดๆ ไม่มีผู้ใดที่จะมาช่วยชีวิตเราได้ แต่นับตั้งแต่เราเกิดมาจนกระทั่งถึงตอนนี้เรายังไม่เคยทำบาปทำกรรมอะไรเลย ด้วยสัจจะคำจริง ขอให้ลมจงพัดพาเอาไฟไปทางอื่นก่อนเถอะ ขอชีวิตของเราจงปลอดภัยเถอะ ด้วยสัจจะคำจริงนี้ขอไฟจงดับไป ผลที่สุดลมเปลี่ยนทิศ ท่านก็เลยรอด พอรอดเสร็จก็เวียนว่ายตายเกิดในภพในภูมินี่แหละ และในชาติสุดท้ายมาเป็นเจ้าชายสิทธัตธะ มาเป็นพระโคตมพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้วท่านย้อนระลึกนึกอดีตชาติไปได้ จึงเป็นเรื่องสัจจะนี้

...

ก็ขอนำมากล่าวคร่าวๆ ในเรื่องนี้เรื่องเดียวก็แล้วกันว่าคำที่สวดนี้เป็นคำมงคล และเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าใช้คำเหล่านี้รักษาชีวิตรอดมาได้ แม้กระทั่งชาติที่ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า และเหตุที่นำมากล่าวถึงชาติที่เป็นแม้กระทั่งเดรัจฉาน ทว่ามีสัจจะมีคำจริงขึ้นมา ก็ยังสามารถคุ้มครองชีวิตได้ ถ้ากล่าวเฉพาะชาติที่ท่านเป็นพระพุทธเจ้าแล้วเดี๋ยวจะว่าห่างไกลจากเราทั้งหลายผู้กล่าว ว่าก็นั่นท่านเป็นพระพุทธเจ้าแต่เราเป็นคนธรรมดา บุญกุศลบารมีจะไปกล่าวอย่างนั้นคงไม่ได้ผล ไม่ใช่ ท่านกล่าวแม้กระทั่งชาติที่ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นมนุษย์ด้วย

...

แม้กระทั่งชาติที่เป็นเดรัจฉาน แต่จิตนั้นมีสัจจะได้ลั่นความจริง จากการที่ได้กล่าวคำจริง ไฟเอ๋ยขอชีวิตเรารอดไว้ก่อนเถอะ ไฟฟังรู้เรื่อง ? บอกไฟฟังรู้เรื่องหรือ ? เทพเทวดาทั้งหลายที่ดูแลรักษาอยู่มีอานุภาพทำให้เกิดลมพัดเอาไฟไปทางอื่น จะว่าไฟมีหัวจิตหัวใจก็ไม่ใช่หรอก มันมีอานุภาพที่แฝงอยู่ คือเทวตานุภาพ มาก่อลมขึ้น ทำให้ไฟพัดไปทางอื่นหรือทำให้ฝนตกลงมา ดังนั้นก่อนที่เราจะสวดจึงมีการชุมนุมเรียกประชุม ซึ่งเทวดาทั้งหลาย มารับรู้ซึ่งการสวดนั่นเอง


ฟังเสียงบทสวดพระปริตรได้ที่นี่ : https://www.youtube.com/watch?v=YX4-0YbRDqU


บรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘