ที่ว่า ติดกิเลส เขาติดกันอย่างนี้แหละ ติดกามคุณห้า คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทั้งหลาย ใครหลุดจากห้าอย่างนี้ได้ คือไม่ติด ดูได้ ฟังได้ เห็นได้ กินได้ ดมได้ แต่ไม่ติด คนนั้นอรหันต์ แค่นี้เลย แค่นี้จริงๆ ไม่ได้จะเอาพูดง่ายเข้าว่า แก่นของมันอยู่แค่นี้จริงๆ
...
ที่ว่ามากมายนั่นก็คือความพิสดารของมัน ความพิสดารของรูป ของรส ของกลิ่น ของเสียง ของสัมผัส ของจังหวะจะโคนทั้งปวงของไอ้ห้าอย่างนี้แหละ ที่ว่าทำไมต้องไปปฏิบัติอะไรมากมาย ทำไมต้อง เดินจงกรม ทำไมต้องบวชพระ บวชชี ทำไมต้องสวดมนต์แต่มืดแต่ดึก ค่ำแล้วทำไมไม่เข้านอนเลย เข้าใจแล้วว่ามันมีแค่ห้าอย่าง ก็อย่าไปติดมันก็จบ
...
ต้องไปเดินจงกรมทำไม หัวค่ำกลางค่ำกลางคืน ทำไมต้องมานั่งกรรมฐาน สมาธิกันอยู่นี่ล่ะ เข้าใจกันแล้วว่ามันมีแค่ห้าอย่าง อย่าติดในห้าอย่างก็จบสิ มันไม่จบน่ะสิ การที่ไปทำต่างๆ เหล่านั้นนั่นแหละมันถึงจะจบ มันถึงจะเข้าใจในการที่จะวางห้าอย่างนี้ได้
...
ต้องมีสติละเอียด ต้องมีสมาธิละเอียด มีความเบื่อในห้าอย่าง ทำอย่างไรจึงจะเบื่อในห้าอย่างก็ต้องเห็นโทษในห้าอย่าง เห็นความทุกข์ในห้าประการนั้นมันถึงจะไม่ติด มันถึงจะวางในห้าอย่างได้ มันคืออย่างนั้น
...
ถ้าเพียงแค่ฟังไปแล้วจบก็ดีสิ ไม่อย่างนั้นจบกันหมดแล้ว การที่จะให้มันจบมันวางจริงๆ นั้น ต้องประพฤติตัวให้มันเกิดความเบื่อหน่ายในห้าอย่างนั้น เออ อันนี้ต่างหากเล่า
...
ทำอย่างไรจึงจะเบื่อรูป เบื่อรส เบื่อกลิ่น เบื่อเสียง เบื่อสัมผัส เติมคำว่าเบื่อเข้าไปในห้าประการนั้น ก็มันไม่น่าจะเบื่อแล้วจะไปเบื่อมันทำไม โอ้ หาเรื่องน่ะ หาเรื่องให้เจอ ใครเป็นนักหาเรื่อง เออ ถึงจะเบื่อมันได้ ถึงจะวางมันได้ ของอะไรที่น่าเบื่อมันวางหมดแหละ ด้วยธรรมชาติของจิตมันจะไม่ติดต่อเมื่อมันเบื่อ คืออันนั้น ในเมื่อเรารู้ว่าถ้ามันเบื่อแล้วมันจะไม่ติด หาวิธีการที่จะให้มันเบื่อ ด้วยเหตุผลด้วยนะ ต้องด้วยเหตุผลนะที่มันจะเบื่อน่ะ
...
ต้องมีเหตุมีผลคือให้มันเห็นโทษ ใครเห็นโทษ จิต จิตธาตุนี่แหละ จิตวิญญาณนี่แหละเห็นโทษของกามคุณห้า
หลวงพ่อเฉลิมโชค ฉันทชาโต
9 กุมภาพันธ์ 2566