การให้ทานในขณะที่จิตผ่องใส จะได้บุญมาก คนมักจะถามว่าไปทำบุญได้มากได้น้อยรู้ได้อย่างไร รู้จากความเบิกบานของจิตเราเอง เบิกบานมากแสดงว่าวันนี้ได้มาก ใส่แล้วขุ่นมัววันนี้ไม่ได้เลย เวลาที่จิตขุ่นมัวท่านจึงบอกว่า อย่าเพิ่งให้ เอาไว้ตอนจิตผ่องใสแล้วค่อยให้ พอให้แล้วเราปรารถนาในผล ผลคือความสุข คือบุญ ถ้าทำไปแล้วผลมันไม่เกิด อย่าเพิ่งทำ พระจะอด ชีจะอด เรื่องของชีของพระเถอะ ไม่ต้องห่วงท่าน เอาไว้วันไหนจิตผ่องใสแล้วจะให้
...
ความจริงมันคืออย่างนั้น ถ้าพระจะเทศน์เข้าข้างตัวเอง บอกให้ไปเฮอะมันได้เองแหละ เทศน์กลัวอด กลัวไม่มีใครให้ แต่มันไม่ตรงกับความจริง ความจริงที่เรามาทำเช่นนี้ เพราะต้องการให้เกิดความผ่องใสขึ้นมาในจิต การที่ว่าให้พระอิ่มชีอิ่มเป็นเรื่องรอง เป็นเรื่องเล็กว่าอย่างนั้นเถอะ เรื่องใหญ่จริงๆ คือ ต้องการมาทำให้จิตใจของตนเองผ่องใส ด้วยการได้ให้
...
ทานะ ปาระมี ทานะแปลว่าการให้ กำลังภายในที่เกิดจากการที่ได้ให้ มันมีอยู่ เป็นหนึ่งในสิบของทางที่จะไปสู่นิพพาน ใครเข้านิพพานโดยที่ไม่เคยให้อะไรใครเลยนี่เข้าไม่ได้ เป็นไม่ได้หรอก แม้โสดาบันก็เป็นไม่ได้ ทานนี้จึงเป็นประตูแรก หรือเป็นด่านแรกของการที่จะนำเราไปสู่ความสงบเย็น เป็นนิพพาน ทางธรรมเขาก็มีขั้นมีตอนมีกระบวนการมีจังหวะเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มีกฎไม่มีเกณฑ์อะไรเลย ไม่ใช่ กฎเกณฑ์เสียอีกที่ค่อนข้างจะละเอียดกว่ากระบวนการในการใช้ชีวิตทางโลก
...
กระบวนการของการที่จะสร้างบุญสร้างบารมี กลับละเอียดประณีต วิจิตร ดังที่บอก จิตที่วิจิตร จึงจะทำอะไรได้วิจิตร จิตที่ละเอียด จึงจะเข้าถึงซึ่งความละเอียด เข้าถึงความสงบเย็นเป็นนิพพานได้ ก็เลยว่า ในขณะที่ให้ทาน ตั้งสติ มีสติ ให้เพราะปัญญา มีเป้าหมายวัตถุประสงค์ ต้องการให้จิตผ่องใส ถ้าผ่องใสนั่นแหละเช้านั้น วันนั้น ได้บุญมาก ได้บุญเยอะ
บรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓