คิดเป็น เห็นธรรม

คิดเป็น เห็นธรรม คิดเป็น เห็นธรรม

  • 2024,Apr 18
  • 2496

“...เป็นโอกาสของการฟังธรรมเพื่อเผากิเลสทั้งหลาย เผาความโลภ ความโกรธ ความมัวเมางมงายในสิ่งที่ผิดๆ ใช้ปัญญาเข้าไปเผา การฟังธรรมคือปัญญา ไปเผามันด้วยเหตุผล ที่เรียกว่าโง่ที่เรียกว่าเขลาเบาปัญญา มีความหมายรวมแล้วหมายถึง การที่เราทำอะไรโดยไร้เหตุผล เขาใช้คำศัพท์สั้นๆ ว่าโง่ และที่ว่าฉลาด แสดงว่าเราทำอะไรโดยมีเหตุผลนั่นเอง เหตุผลในที่นี้ก็ต้องแยกอีก ทุกคนมีเหตุผลในสิ่งที่ทำหมด เหตุผลนั้นจะต้องเป็นเหตุผลที่ดีตรงกับความเป็นจริง เหตุผลที่เฉโก เหตุผลในทางที่บิดเบือนจากความจริง ใช้ไม่ได้ ...อาจจะเป็นเหตุผลส่วนตัว แต่โดยส่วนรวมเขาไม่ชอบ เขาว่ามันผิด แต่เราชอบ แล้วก็บอกว่าเป็นเหตุผลของเรา... อย่างนี้เรียกว่าเป็นเหตุผลเฉโก เอาแต่ดีใส่ตัวแต่เบียดเบียนคนอื่น เหตุผลชนิดนั้นใช้ไม่ได้

...

เหตุผลที่ดีต้องเป็นเหตุผลที่ตรงกับหลักความจริงของจักรวาล ใครที่รู้ความจริงของจักรวาลถือว่าเป็นคนมีปัญญา พระพุทธเจ้าเอาหลักของจักรวาลมาเป็นพระธรรมคำสอน คำสอนของท่านเป็นไปตามความเป็นจริงของจักรวาล ใครที่รู้ตามคำสอนของท่านจึงเป็นผู้มีปัญญา เราไปเรียนไปรู้คำสอนของผู้อื่น ของนักวิทยาศาสตร์ ของนักประวัติศาสตร์ที่ไปสืบทราบรู้มา นั่นยังไม่ใช่เป็นคำสอนที่ตรงกับหลักของจักรวาล ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศจะเป็นไปและแตกต่างกันไป เป็นเหตุการณ์เก่าๆ ที่เล่าต่อกันมาเรียกว่าประวัติศาสตร์ ประเทศแต่ละประเทศก็เล่าอะไรต่างๆ ตามเรื่องราวของตนเอง เป็นไปตามความเชื่อความชอบของคนภูมิประเทศนั้นๆ อย่างนั้นประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่หลักของจักรวาล ถึงจะจดจำเอาไว้ได้มากก็ยังไม่จัดว่าเป็นผู้มีปัญญา เพียงไปจดจำเอาเหตุการณ์เอาเรื่องราวต่างๆ ไว้ได้ ซึ่งเหตุการณ์นั้นเรื่องราวนั้น ก็มีทั้งถูก-ทั้งผิด-ทั้งดี-ทั้งชั่ว ไปรู้มาตั้งมากมายก็ไม่เห็นจะช่วยอะไรได้ ไม่ได้ทำให้คนที่รู้มานั้นขึ้นสวรรค์ไปเป็นพรหม หรือเข้านิพพานอะไรได้ จำได้แม่นจำได้มาก พอพลัดพรากตายจากก็จบกัน ลืมอีกแล้ว เกิดใหม่ต้องเรียนใหม่อีก อย่างนั้นก็ยังไม่จัดว่าเป็นปัญญาในทางธรรม แต่ในทางโลกอาจจะสรรเสริญก็ได้ ...เก่งเนอะ จำแม่น จำได้เยอะ...

...

เรากำลังจะกล่าวกันถึงเหตุผลในทางธรรม ปัญญาในทางธรรม เป็นสิ่งที่ควรจะจดจำเอาไปประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่จะทำให้เกิดคุณงามความดีในทางธรรม คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” อันชื่อว่าศีลทราบแล้วพื้นฐานห้าข้อ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ทำอทินนาทาน ประทุษร้ายทรัพย์ของคนอื่น โดยเจ้าของไม่ได้อนุญาตไม่เต็มใจ ลักเอาขโมยเอาหรือจะคดโกงเอาก็ตามแต่จัดเป็นอทินนาทาน ไม่ประพฤติผิดในบุคคลทั้งหลายที่เขาหวงแหน ไม่กล่าวคำเท็จไม่กล่าวคำหยาบคาย ไม่กล่าวคำส่อเสียดนินทา ไม่กล่าวคำเพ้อเจ้อ วจีกรรมสี่ประการนี้เราจะไม่ทำ ต้องไม่ทำ อย่าไปแตะต้อง อย่าไปพูดมัน อย่าไปทำให้ตัวเองขาดสติมัวเมา สติปัญญาเศร้าหมอง

...

ศีล รู้แล้วว่าศีลมีห้าประการ แต่ทำอย่างไรให้ห้าประการนี้ไม่บกพร่องได้ ตรงนี้ต้องมีอุบาย ต้องมีปัญญามาอธิบายให้ตัวเองฟัง อุบายที่จะทำให้เราไม่ต้องไปมัวหมองขุ่นข้องในการที่จะทำให้ผิดศีล ให้กลัวบาปกลัวชั่ว มันก็ไม่คิดที่จะทำ อื่นๆ กลัวแต่ไม่กลัวตกนรก คนเรานี่ก็แปลกอื่นๆ กลัวไม่กล้าไม่หาญ แต่การทำผิดศีลอาจหาญไม่กลัว กลัวเปรตกลัวผีที่มองไม่เห็น กลัวมากกลัวมาย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ตกนรกลงอบาย เห็นผีเจอผีเจอเปรตเป็นเรื่องธรรมดา เฉยๆ เนื่องด้วยเป็นภพภูมิที่อาจจะเจอกันบ้าง แต่เมื่อมาพบมาเจอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเองอับเฉาตกต่ำอะไร แต่การทำผิดศีลในห้าข้ออับเฉาตกต่ำแน่ ทั้งในปัจจุบันชาติและชาติต่อๆ ไป กลับไม่กลัว ทำทั้งที่รู้ พูดเท็จทั้งที่รู้ พูดคำหยาบทั้งที่ทราบอยู่ ส่อเสียดนินทากันต่อหน้าต่อตากลับไม่กลัว ...ตายน้ำตื้น สิ่งที่ควรกลัวไม่กลัว สิ่งไม่ควรกลัวกลับกลัว... ผีเปรตควรจะเจอกันบ่อยๆ จะได้เข้าใจภพภูมิยิ่งขึ้น เทียบผีเทียบเปรตกับกบกับเขียด เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งเหมือนกัน เราเจอกบเจอเขียดไม่วิ่งหนี จริงๆ แล้วเปรตผีเห็นได้ยาก เผลอๆ ไม่เคยเจอได้ยินแต่เล่าลือกันมา ไม่ได้เห็นกันได้บ่อยๆ เหมือนกับกบกับเขียดด้วยซ้ำไป เราไม่กลัวกบกลัวเขียดฉันใด เราก็ไม่ควรกลัวผีกลัวเปรตฉันนั้น

ถ้าเราใคร่ครวญแล้วมีปัญญา เราจะรู้ว่าสิ่งที่ควรกลัวก็คือกลัวตัวเองจะทำชั่ว กลัวตัวเองจะล่วงเกินในศีล ข้อห้ามเหล่านี้คือสิ่งที่ทุกๆ คนควรจะกลัว เพราะถ้าเราไปล่วงละเมิดจะเป็นเหตุให้ลงอบายภูมิตกต่ำ ชีวิตในปัจจุบันมัวหมอง อย่าไปกลัวไกลตัว ให้กลัวการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ที่จะเป็นเหตุทำให้ชีวิตเราตกต่ำตั้งแต่ในปัจจุบันชาติ ถ้าเราทำชั่วเราจะถูกประณามทันทีตั้งแต่ยังไม่ตาย ...เธอคนนั้นชื่อว่าชั่ว ชอบฆ่าคนชอบทำร้ายผู้อื่น ชอบรังแกคนที่เขาไม่ได้ระมัดระวังตัวไม่ต่อสู้ เบียดเบียนคนอื่นทางกายทางทรัพย์ นั่นๆ คนนั้น... ถูกประณามสดๆ ร้อนๆ ไม่ต้องรอให้ตายแล้วไปเจอ ...อย่างนี้น่ากลัว...กลับไม่กลัวกัน …”


บรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙