คิดเป็น เห็นธรรม

คิดเป็น เห็นธรรม คิดเป็น เห็นธรรม

การปฏิบัติธรรม คือ ปฏิบัติตามจริง นั่งไปตามความเป็นจริง

  • 2024,Mar 29
  • 2335

โดยธรรมชาติ โดยความจริงของบุคคลที่ทำใหม กับบุคคลที่ทำมาเนิ่นนานก็ย่อมจะผิดกัน คนประพฤติใหม่ก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง ประพฤติเก่าก็ต้องอีกแบบหนึ่ง คนมีบุญมากก็ต้องอีกแบบหนึ่ง บุญน้อยก็ต้องอีกแบบหนึ่ง

...

เหตุที่จะทำให้แตกต่างกันมีเยอะ โดยความเป็นจริงของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ดูแค่วันนี้แต่ละคนก็เจอเหตุการณ์มาไม่เหมือนกัน อีกคนเจอกับความประสบผลสำเร็จ อีกคนเจอกับความผิดหวัง แล้วให้มานั่งสมาธิด้วยกัน ความรู้สึกในจิตของสองคนก็ย่อมจะต่างกัน จากเหตุการณ์ในตอนกลางวันที่ผ่านมาต่างกัน จึงทำให้คนสองคนเข้าถึงความสงบเข้าสู่สมาธิไม่เท่ากัน องค์ประกอบของการประพฤติปฏิบัติก็มีผลแก่เจ้าของเอง

...

แล้วจะแก้ไข จะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ ท่านบอกให้อดทนที่จะทำต่อไป พยายามที่จะดูต่อไป ต้องมีสองอย่างนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่สงบ ถึงแม้ว่าจะสงบช้า ถึงแม้ว่าจะอึดอัด ถึงแม้ว่าจะเกิดทุกขเวทนา ก็ให้อดทนพยายามนั่งให้ได้ครบตามที่เราตั้งใจไว้ ได้ผลมากหรือน้อยวางไว้ ไม่ต้องให้คะแนน

...

ถ้านั่งได้ตามกำหนดที่เราตั้งไว้ สรุปได้ว่าได้ผล สรุปได้ว่าประสบผลสำเร็จในบัลลังก์นี้ อย่าไปตั้งความหวังที่มันผิดก็แล้วกัน ให้ตั้งตามกำหนดเวลา อย่าไปตั้งเอาถึงมรรคผลมาเป็นตัวตัดสิน วันนี้จะนั่งให้ได้โสดาบัน วันนี้จะนั่งให้ได้อนาคามี วันนี้จะนั่งให้ได้วิมุตติ (หลุดพ้น) เป็นเช่นนั้นเหมือนกับบีบตัวเองก่อนแล้ว ตั้งไว้ผิด

...

เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงๆ ตั้งไว้แค่เพียงง่ายๆ ขอให้ได้นั่งก็แล้วกัน คิดจะนั่งเท่าไหร่ก็ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ก็ภูมิใจแล้ว จะได้ขั้นใดชั้นใดช่างมันเฮอะ ว่าจะนั่งครึ่งชั่วโมงก็ถึงครึ่ง ว่าจะนั่งหนึ่งชั่วโมงก็ถึงหนึ่งชั่วโมง จะให้ได้ห้าชั่วโมงก็ได้ห้าชั่วโมง พอแล้วช่างมันเฮอะ มันจะถึงขั้นใดชั้นใดไม่รู้ ต้องฝึกไต่ไปจากอย่างนี้ ฝึกวางตั้งแต่แรกเลยนั่นแหละแท้ที่จริงแล้ว

...

คนที่ฝึกอย่างนี้จะได้ผลเร็วด้วยซ้ำไป กับคนที่พอนั่งก็ตั้งไว้ว่าจะต้องได้ฌานนั้นฌานนั้น ผลที่สุดฌานปลอมจิตปรุงแต่งหลอกตัวเอง ว่าได้แล้ว ได้แล้ว ถึงแล้ว ถึงแล้ว กลายเป็นสำคัญคนผิดไปอีก ก็เกิดอุปกิเลส

...

เราฝึกปฏิบัติเพื่อจะปล่อยวาง ให้ฝึกวางตั้งแต่แรกนั่นแหละ ทำไปเรื่อยๆ เถอะ ธรรมะเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ขอให้เราเริ่มต้นถูกต้อง เขาก็จะดำเนินไปตามเส้นทางที่มันถูกแล้วนั่นแหละ

...

เปรียบเหมือนว่าถ้าเราจะเดินทางไปกรุงเทพฯ ขอให้บ่ายทิศทางในถนนเส้นทางที่ถูกต้องก็แล้วกัน อย่าเหยียบนักเน้อ (ภาษานักขับ) ไปเรื่อยๆ อย่าเหยียบนัก ฝนตก ถนนลื่น ทางมันคด ดินมันอาจจะถล่ม สไลด์ ให้มีสติไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึงกรุงเทพฯ เอง ไปด้วยความไม่ประมาท อันว่าโล่งดีถนนกว้างดีจะเร่งก็ควร อันว่าถนนโค้ง รถที่กีดขวางมีมากก็อย่าไปเร่งมัน ชะลอความเร็วลง

...

สถานการณ์มันเปลี่ยนไป จะกำหนดต้องวิ่งเท่านั้นต้องถึงเท่านี้ ไม่ได้ ไม่รู้สถานการณ์ที่แท้จริงบนท้องถนน ทัศนวิสัยวันนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ รู้แล้วว่าระยะทางหกร้อยกิโลเมตร เจ็ดร้อยกิโลเมตรแล้วแต่ รู้แล้วว่ามันเท่านี้ แต่ด้วยความเป็นจริงสถานการณ์บนท้องถนนจะใช้เวลากี่ชั่วโมงไม่รู้ วิ่งๆ ไปทางขาด น้ำท่วม อุบัติเหตุ รถชนกันขวางอยู่ จำต้องรอมายกมาแยก เหตุการณ์สถานการณ์ที่จะมาทำให้คลาดเคลื่อนเปลี่ยนแปลง ทางโลกยังมีเลยแล้วทางธรรมไฉนจะไม่มี

...

ปฏิบัติธรรมคือปฏิบัติตามจริง นั่งไปตามความเป็นจริง วันนี้จะนิ่งมากนิ่งน้อย จะนิ่งได้เร็วจะนิ่งได้ช้า แล้วแต่เขาเฮอะ พอนั่งแล้วก็ทำใจว่างๆ ดูลมไป ดูไปถึงมันนิ่งมันก็จะลืม ลืมลมเข้าลมออก อยากจะอยู่เฉยๆ มันไม่ดูนะ พอดูไปดูมามันเฉย แล้วลมเข้าลมออกก็เบ๊า เบาจนไม่รู้ว่ามันมีลมหายใจไหม ลมมันละเอียดขึ้น ไม่ฟึดฟัดฟึดฟัดเหมือนตอนเริ่ม ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น เราปฏิบัติก็ปฏิบัติธรรมชาติไป ขอให้ได้ทำ ที่ว่าทำอยู่บ่อยๆ ทำเป็นประจำ อาจจะทุกวันแต่จะวันละกี่ครั้งนั้น ขึ้นกับความเพียรพยายาม (วิริยะ) หรือหมั่น (ขยัน) ที่จะกระทำนั่นเอง ...