คิดเป็น เห็นธรรม

คิดเป็น เห็นธรรม คิดเป็น เห็นธรรม

ความปรารถนาที่ไม่น่าอาย

  • 2024,Dec 03
  • 3051

ทำทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ให้ปรารถนานิพพาน จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ (เห็นถูก) แต่ถ้าปรารถนาจะให้มาเป็นคนชั้นนั้น ชั้นนั้น หรือจะเป็นเทพยดาชั้นนั้น ชั้นนี้ ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) อย่าอายนะที่จะปรารถนา "นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ" คือ ขอถึงซึ่งความสงบเย็น เป็นนิพพาน อย่าอาย ถ้าปรารถนาเป็นอย่างอื่นเสียอีกสิ น่าอาย เขาหาว่าเราไม่รู้ความจริงว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปรารถนาอะไร ? พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปรารถนานิพพาน

...

อย่าถ่อมตัว อย่ามักน้อยในเรื่องของการอธิษฐาน ให้อธิษฐานให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ และเรื่องที่ไม่ควรจะถ่อมตัว หรือแสดงความมักน้อยก็คือการไม่ปรารถนาสูง ขอให้มาเกิดในเรือนเก่าตระกูลเดิมก็พอใจแล้ว อย่างนั้นล่ะน่าอาย ไม่ใช่น่าภูมิใจน่าอายที่เราเข้าใจผิด เราไม่เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร อายเพราะตรงนั้น ศาสนาพุทธสอนให้ไปนิพพาน ไม่ได้สอนให้ไปที่ไหน เราเคย เอ๊ะ ! ให้ไปนิพพานแล้วกล่าวถึงพรหม กล่าวถึงเทวดาแต่ละชั้นๆ ไว้ทำไม (เทวดามี 6 ชั้น พรหมมี 20 ชั้น) และบอกด้วยว่าถ้าทำอย่างนี้จะได้ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นนั้น ชั้นนั้น ถ้าได้ฌานได้สมาธิขั้นนี้จะได้ไปเป็นเทวดา หมู่นั้น หมู่นั้น

...

บอกไว้ แต่ไม่ได้ให้ปรารถนาไปชั้นเหล่านั้น ท่านให้ปรารถนาให้ถึงที่สุดคือนิพพาน คือ ดินแดน หรือสถานที่แห่งความสงบเย็น อยู่แล้วเย็น อยู่แล้วสงบ แต่ทว่าถ้าได้อริยะจิตแต่ยังไปไม่ถึงนิพพาน ก็จะไปอยู่ระหว่างทางตามชั้นเหล่านั้น ไม่ตกต่ำไปกว่ามนุษย์ หรือถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็ต้องดีกว่าเก่า (ดอกเบี้ยต้องมีเพิ่มให้) แต่ถ้าจะดีกว่านี้ก็ต้องโน่น กายทิพย์ กายเทพ พรหมทั้งหลาย ไปสร้างบุญบารมีต่อในชั้นของเทวโลก พรหมโลก 

บรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒