โกรธน้อง น้องพูดไม่ดีกับแม่ พูดไม่ดีกับพ่อ ทำให้พ่อแม่ทุกข์อกเสียใจ ทรัพย์ของพ่อของแม่เดี๋ยวก็ขอ...เดี๋ยวก็ขอ พ่อแม่ก็ให้ พี่สงสารพ่อแม่ก็เลยไม่ชอบ โกรธน้อง เกลียดน้อง ไม่ได้เกลียดคนอื่นแต่เกลียดคนที่นอนในครรภ์เดียวกันมา
...
ทำไม ? จึงจะหายเกลียดน้องได้ ถ้าน้องเปลี่ยนนิสัยได้ เราก็จะหายโกรธหรอก แต่นี่น้องก็ไม่ได้เปลี่ยนนิสัย ความโกรธติดอยู่ในใจจนกระทั่งเราตาย โกรธคนอื่นไม่มี ติดอยู่กับน้องคนเดียว ถึงแม้จะคนเดียวก็จะเรียกว่าบริสุทธิ์ไม่ได้ ผ้าขาวทั้งผืนเปื้อนอยู่จุดเดียว ก็เรียกว่าไม่บริสุทธิ์ถึงจะจุดเดียวก็เถอะ
...
วางไม่ได้เสียทีกับเรื่องน้อง แล้วจะแก้ไขอย่างไร ? ต้องใช้ปัญญา หรือที่เรียกว่าปัญญาบารมี คือปัญญาที่คิดแต่ในเรื่องที่ดีเมื่อมีทุกข์ เอาเรื่องที่ดีไปแก้ไขทุกข์ ไม่ทันให้ทุกข์ให้ตรมข้ามคืนข้ามวัน ทุกข์เช้าหายเช้าเลย ด้วยเพราะมีธรรมะแก้ไข หรือรู้ความจริงนั่นเอง ที่น้องทำ มันกระทำกับใคร ? กับพ่อกับแม่ แล้วพ่อแม่ว่าอย่างไร ? เขาก็บ่นแต่เขาก็ให้มันเรื่อย เขาบอกว่าเลือดในอก ตัดไม่ได้ขายไม่ขาด ทรัพย์สมบัติเหล่านี้ถ้าเขาตายไปก็ต้องให้น้องอยู่ดี ก็ต้องแล้วแต่เจ้าของทรัพย์ เจ้าของครรภ์นอน ชาติใดชาติหนึ่งน้องมันอาจให้แม่นอนในครรภ์ ชาตินี้จึงมีสิทธิ์มานอนในครรภ์แม่ ผลัดกันเอาคืนอยู่นี่ ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิด
...
ชาติที่เขาเป็นพ่อเป็นแม่ คงให้พ่อให้แม่ใช้ทรัพย์สมบัติเอาไว้มากมาย ไม่เคยติดไม่เคยขัด พอชาตินี้เขามาเป็นลูก เขาก็มาขอของเก่าที่เขาเคยให้ไว้ในอดีตชาติคืน นั่นสิ…แล้วแกจะไปขุ่นไปมัวอะไรกับเขา หรือแกกลัวว่าจะได้ส่วนแบ่ง ส่วนมรดกอะไรน้อยลง อย่างงั้นแกก็โลภ ! ช่างมันเฮอะ...เมตตา อย่างไงเขาก็แม่ลูกกัน ก็ไม่ได้จะทำให้เขาเป็นเขาตาย เขาทำกันจนชินล่ะมั้ง คงรักมาก เห็นน้องมันทำตั้งหลายที เขาก็ได้แต่บ่นเฉยๆ แล้วก็ควักให้
...
ต้องมีปัญญา…บุคคลพ้นทุกข์ด้วยปัญญา ทุกข์จากเหตุการณ์นั้นจากเรื่องนั้น บางทีแก้ไขนิสัยเขาไม่ได้ แต่มันทำให้เราไม่ทุกข์ก็ได้ คิดใหม่สิ…คิดใหม่ คิดที่จะเมตตาน้อง น้องจะชั่วจะเลวอย่างไรก็เลือกกระทำนะ ไม่ได้ไปเบียดเบียนคนอื่นเลย มันรู้ว่ามีสิทธิ์เบียดเบียนพ่อแม่ตัวเอง กับคนอื่นก็ไม่ได้ไปทำ เป็นกรรมร่วมของเขากันเองแล้วกัน สิ่งที่เราคิดเรานึกอยู่นั่นแหละ...คือปัญญา ถ้ามีเหตุผลในทางธรรม นำมาใช้มันจะยอมได้จริง จะไม่โกรธไม่เกลียดใครแล้ว ถ้าเราเชื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ให้พิจารณาเรื่องกฎแห่งกรรม คือกฎแห่งการกระทำ ให้เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ให้เชื่อเรื่องวิบากกรรม
...
ฤาเขาเคยเป็นพ่อเป็นแม่ ผลัดกันเป็นพ่อเป็นแม่มา ฤาพ่อฤาแม่นี้คงจะเคยเบียดเบียนเขาไว้ในอดีตชาติ ชาตินี้เขาถึงได้คิดที่จะเบียดเบียนเอา เขาคงกำลังจะใช้กรรมกันอยู่ ถ้าเขาได้ใช้กรรมกันตามนั้นแล้ว เขาคงจะได้หมดกรรมกัน พอคิดอย่างนี้...ก็ไม่ทุกข์ ...
บรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒