หนึ่ง คือ การไม่มีโรคเบียดเบียน คำว่าโรคของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เพียงแต่ทางกาย โรคในที่นี้คือ ทางความรู้สึกนึกคิดจิตวิญญาณด้วย เดี๋ยวจะมองแค่ปวดหัวตัวร้อนอย่างเดียว โรคฟุ้งซ่าน โรคขี้หงุดหงิดขี้รำคาญ โรคทางจิตเป็นคนมักฟุ้งซ่าน จะสนทนาพูดคุยอะไรที่มันลึกซึ้งที่มันละเอียดก็คุยด้วยไม่ได้ เป็นคนสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เขาเรียกว่าคนฟุ้งซ่าน พูดโลเลโยกเยกไม่อยู่กับที่กับทาง ไม่อยู่กับร่องรอย คนที่เป็นอย่างนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง อย่าไปจ้องแต่ว่าโรคผื่นโรคคันโรคไอโรคจาม ใครไม่เป็นอย่างนั้นถือว่ามีลาภอันประเสริฐ ได้มีลาภที่เป็นประโยชน์ต่อการเป็นคนอย่างยิ่ง เป็นผู้ที่มีความพร้อมในการที่จะคิดพิจารณาธรรมะทั้งหลายให้ลึกซึ้งได้
..
สอง คือ ศีล ถ้าใครเกิดมาได้รักษาศีล ได้ประพฤติอยู่ในศีล ถือว่าอยู่ในทางที่เป็นประโยชน์ ถือว่าเขาได้ลาภ หลายคนอยากจะรักษาศีลแต่ไม่สามารถจะกระทำได้ อยากจะให้ตัวเองดี มีความบริสุทธิ์ทางกาย ทางวาจา ทางใจ แต่มันดีไม่ได้ รู้ว่านั่นก็บาป นั่นก็บาป นั่นก็บาป แต่หักห้ามจิตใจตนเองให้ไกลจากบาปนั้นๆ ไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ มันโอนอ่อนผ่อนตามบาปนั้นไปเสีย คนที่ไม่สามารถจะหักห้ามเอาชนะใจของตัวเองได้ ให้เป็นคนประพฤติทางกาย ทางวาจา ใจไม่ให้ผิดไปจากคลองธรรมได้ ไม่ใช่ง่าย ถ้าใครทำได้ถือว่าเขามีลาภอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในความเป็นคน
..
สาม คือ เป็นผู้ได้สดับรับฟังในความจริงต่างๆ ทั้งหลาย ทำไมเราได้อยู่ในสถานที่ ที่มีพระธรรมให้ได้สดับรับฟัง ทำไมเราเป็นผู้ที่ชอบในการฟังธรรม บางทีมีให้ฟังแต่ไม่ชอบ ตอนอยากจะฟังก็ไม่มีให้ฟัง ตอนมีให้ฟังก็ให้ไม่ว่าง มันช่างไม่พอเหมาะพอควรเอาเสียเลย ในที่สุดก็ไม่ได้ฟัง มารมาปิดซ้ายปิดขวา บังหูบังตาเอาไว้ เลยหมดอดไปเสียชาติหนึ่ง นั่นถือว่าไม่มีลาภ หูไม่หนวกแต่โอกาสจะได้ฟังเหมาะๆ ไม่มีสักครั้งสักทีเชียว ได้แต่เพียงฉาบๆ ฉวยๆ ไม่ทันจะได้ใคร่ครวญก็บอกว่าไม่ชอบแล้ว เทศน์อย่างนี้ไม่ชอบ ชอบอย่างไหนหรือ ไม่รู้แต่อย่างนี้ไม่ชอบ... รู้แต่ที่ไม่ชอบ ที่ชอบถามขึ้นมาจริงๆ ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองชอบแบบไหน ดันไปชอบที่ไม่ใช่เป็นพระธรรมคำสอน ไม่ใช่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ไปเจอธรรมะลวงธรรมปลอมเข้า ธรรมะหลอกๆ เทศน์ตลกโปกฮาไป ดันไปชอบอย่างนั้นเข้า เรียกว่าไม่มีลาภอยู่เหมือนกัน จะชอบฟังเทศน์ทั้งที เทศน์นั้นก็ไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นเทศน์ปรุงเทศน์แต่ง เอาสนุกครื้นเครงรื่นเริงกันไป อย่างนั้นถือว่าเป็นคนไม่มีลาภ
..
สี่ คือ การได้มีโอกาสประพฤติธรรม มีโอกาสได้ปฏิบัติตามที่ได้ยินได้ฟังมา สามารถเอามาใช้ในการดำเนินวิถีชีวิตได้เป็นปกติ ธรรมะที่ฟังกันไปทั้งหลายนี่ เทศน์มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว มีเป็นร้อยๆ กัณฑ์ ไม่ใช่มีเอาไว้เก็บ ไม่ใช่ฟังแล้วเอาเก็บไว้ การที่ได้สดับตรับฟังถือเป็นลาภชนิดหนึ่ง และก็ยังมีลาภอีกชนิดหนึ่งก็คือ ที่ฟังๆ กันไปได้นำมาใช้ไหม ? ได้ใช้อยู่ เอามาใช้ทำอะไร ? เอามาใช้ในการดำเนินชีวิต ชีวิตไปเจอกับความทุกข์ ได้นำเอาสิ่งที่ฟังมาแก้ไขทุกข์ เอาธรรมะนั้นๆ มาแก้ไขในความคิดที่ผิดๆ ให้มีหลักในการคิดที่ถูก คิดให้ตรงกับความเป็นจริง เรียกว่าได้ประพฤติ อย่าไปจ้องแต่ว่าได้เดินจงกรม นั่งสมาธิ ได้สวดมนต์เฉยๆ
ฟังเสียงบรรยายธรรม ได้ที่นี่ >> https://youtu.be/Hc764wVzNn0
บรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙