คิดเป็น เห็นธรรม

คิดเป็น เห็นธรรม คิดเป็น เห็นธรรม

กามคุณ ๕ อุปสรรคของการหนีทุกข์

  • 2024,Nov 23
  • 3714

ชีวิตก็สุขสบายดีอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไปปฏิบัติ ไปสร้างบุญอะไรอีก อยู่เฉยๆ บ้างเถอะ เขาว่าอยู่เฉยๆ น่ะสบาย จะต้องลุกลี้ลุกลนไปถือศีลถือธรรม ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมในวัดให้ลำบาก จะต้องไปลำบากทำไม เพราะเขายังไม่เห็นทุกข์ ถ้าลองเขาเห็นทุกข์ ถึงอยากจะคิดหนีจากทุกข์ แต่ว่าคิดจะหนีดันหนีไม่เป็น ไม่มีหลักในการหนีที่ถูกตรง หนีผิดวิธี ยิ่งหนียิ่งทุกข์หนัก ทุกข์จากหมู่บ้านนี้หนีไปอยู่หมู่บ้านโน้น ทุกข์จากหมู่บ้านโน้นหนีไปจังหวัดนี้ ทุกข์ทั้งนั้น

...

วิธีการหนีทุกข์ของพระพุทธเจ้า ทำอย่างที่เรากำลังกระทำกันอยู่นี่แหละ (เทศน์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมนั่งกรรมฐาน) ที่เขาให้ปวดให้เมื่อยในขณะปฏิบัติ เพราะต้องการให้เข็ดหลาบ จดจำแม่นเลย ด้วยว่ามันทุกข์ในขณะที่นั่ง แต่เมื่อวิธีการต้องนั่ง ก็นั่งเป็นตาย สู้กัน นิสัยอดทน นิสัยขยันหมั่นเพียร เกิดขึ้นจากอย่างนี้ เกิดขึ้นจากความทุกข์ ใครที่ไม่หนีทุกข์คือผู้ไม่รู้ว่ามันทุกข์ หรือไม่รู้ทางที่จะหนี เขาเรียกว่าถูกอวิชชามันครอบไว้ ให้ไม่รู้วิธีหนี สำหรับผู้รู้ล้วนแต่คิดที่จะหนี ชีวิตจะเริ่มมีจุดหมายปลายทางแล้ว

...

ที่อยู่ทุกวันนี้จะหาทางพ้นทุกข์ ดูแลอัตภาพไปด้วย สร้างบารมีไปด้วย หนีไปด้วย สู้ไปด้วย ไม่ว่างเลย ฟันฝ่ากับอุปสรรคหนีทุกข์ การหนีทุกข์ยังต้องมีอุปสรรคที่จะมาคอยขวางไม่ให้เราหนี จะหนีไปไหนเล่าอยู่ด้วยกันเถอะ มันก็หลอกเดี๋ยวจะทำให้สุขจากเรื่องโน้น จะทำให้สุขจากเรื่องนี้ แต่บางทีมันก็ทำให้เราสุขจริงๆ ทำได้ประเดี๋ยวมันก็เลิกทำ แล้วเราก็ทุกข์อีก พอเราจะหนีเดี๋ยวๆ จะหนีไปไหน กินนี่อร่อย พอได้กินอร่อย หยุดหนี ถ้ามันอร่อยอย่างนี้ก็จะไม่หนีมันล่ะ พอถึงสักวันมันไม่อร่อย ก็จะหนีอีกแล้ว มันก็เอาที่อร่อยให้กินอีก เนี่ยหลอกล่อกันอยู่อย่างนี้ จึงอย่าไปเชื่อในสิ่งที่มันมาหลอกล่อ อย่าไปเชื่อ

...

ปลาที่รู้ว่าเบ็ดเป็นอย่างไร ปลาตัวนั้นย่อมไม่ติดเบ็ด ปลาที่ติดเบ็ดคือปลาที่ไม่รู้จักเบ็ด เทียบกับธรรมะของพระพุทธเจ้า ตรงเป๊ะเลย คนที่ไม่รู้จักทุกข์ ถึงจมอยู่ในทุกข์ ถ้าคนที่รู้แล้วว่าการเกิดเป็นทุกข์ จะไม่คลุกคลีอยู่กับทุกข์ จะห่างไกลออกไปจากเบ็ด ปลาที่รู้ นี่เหยื่อมองให้ชัดๆ เอ็นใสเชียวสีเดียวกับน้ำ ผูกเบ็ดเอาไว้ ไม่เข้าใกล้เลย อย่าไปหากินน้ำตื้นเน้อ ถ้ามันสอนพวกมันได้ก็จะบอก แถวตื้นๆ คนมักจะวางเบ็ดเอาไว้ ให้ไปหากินลึกๆ อย่าไปเห็นแก่น้ำตื้น อย่าไปเห็นแก่เหยื่อตื้นๆ ไปอยู่น้ำลึกโน้น คนก็เหมือนกัน ต้องศึกษารู้จักทุกข์ให้ถี่ถ้วน ว่าลักษณะหน้าตาของมันเป็นอย่างไรบ้าง ไอ้เบ็ดไอ้เหยื่อนี่ เหยื่อบางอย่างก็เป็นๆ บางอย่างก็เป็นเหยื่อตายๆ

...

บางทีศึกษาเรื่องเบ็ดเข้าใจแล้ว ต้องไปเรียนรู้เรื่องตาข่ายอีก มนุษย์ฉลาด รู้ว่าปลาไม่กินเบ็ด ก็เปลี่ยนเป็นเอาตาข่ายเส้นเล็กๆ ดัก ปลาสุ่มสี่สุ่มห้าหลงระเริงหยอกล้อว่ายเล่นกันไป ติดตาข่าย เกล็ดก็ลื่นอยู่แล้ว ยิ่งดิ้นยิ่งพันยิ่งดันยิ่งติด โดนข่ายเข้าไปอีกแล้ว รู้จักแต่เบ็ด ศึกษาไม่หมด อาวุธอีกอย่างอุปสรรคอีกอย่างคือตาข่าย มีทั้งเบ็ดมีตั้งตาข่าย มีทั้งไทร ทั้งลอบ สารพัดเลยเครื่องดัก ปลาทั้งหลายมีอุปสรรคคือเครื่องดักอย่างไร มนุษย์เราก็เช่นกัน อุปสรรคในการประพฤติปฏิบัติธรรมก็มากมายหลายชนิด

...

เครื่องดัก โดยใช้รูป เอารูปสวยๆ งามๆ ทั้งหลายใส่สีเข้า เปลี่ยนไฟท้ายไฟหน้าเข้า ตั้งชื่อรุ่นเข้าใหม่ แหมรถยนต์คันนี้รูปงามเนอะ เห็นแล้วมีความรู้สึกอยากจะเปลี่ยนคันใหม่ รุ่นใหม่เท่าไหร่ แล้วคันที่ฉันขับรุ่นเก่านี่จะตีราคาให้เท่าไหร่เหรอ หาวิธีล่ะ ถ้ามันตีราคาได้เฉียดๆ ฉิวๆ ใกล้เคียง เอาล่ะวะ เอาคันใหม่ เสียไปอีกห้าแสนหกแสนช่างมันเฮอะ เพราะรูปสวย ส่วนความเร็วความแรงเท่ากัน วิ่งได้ถนนว่างก็ร้อยกว่า ถนนไม่ว่างก็ตามสภาพ ชั่วโมงนึงไปได้กิโลเดียวก็ได้ รถติด รูปเหล่านี้เป็นเหยื่อมันพร้อมที่ดักเราไว้ได้ หลายอย่างเราชอบในรูปร่างของมัน คนก็เหมือนกัน เราก็ชอบรูปร่าง ติดในรูปร่างก็ได้ คนนี้รูปร่างดีนะ ... เหยื่อ

...

เครื่องดักหรือเหยื่อของมนุษย์มีอยู่ห้าอย่างคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ต่างอะไรเลยกับเบ็ด อวน แห ตาข่าย ไทร ลอบ โพงพาง โป๊ะ แต่พอรู้จักเรื่องเหล่านี้มันมาใหม่อีกแล้ว ไฟช็อต ยาเบื่อ เอาเราจนได้ ดังนั้นมนุษย์เราก็เหมือนกัน ศึกษาถึงเหยื่อทั้งหลายทั้งปวงให้ชำนาญ ดูให้มันออก มันดักเราไว้ มันผลัดกันมาดักนะ ถึงเวลารสมาดัก มันก็จะมาตอนเช้า กลางวัน เย็น มันเคลือบมากับเม็ดข้าว กับน้ำบ้าง ปนมากับตะไคร้ กระชาย ข่า พวกนี้แหละ เพื่อจะให้เราติด เราก็ต้องรู้ทันมัน

...

แล้วเราจำต้องอาศัยเหยื่อเหล่านี้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มีอยู่ในเราทุกคน ในเมื่อกามคุณทั้งห้า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มันไม่ดี อย่างนั้นเราก็ไม่เอามันเลยไหม...ไม่ได้ฮี มันบังคับด้วยนะต้องมี เธอเป็นคนจะไม่รับรสชาติอะไรเลยไม่ได้ เธอต้องกิน ไม่เอาฉันกลัวติดรส ฉันรู้ว่ารสชาติมันทำให้ติดอกติดใจ ฉันเลยไม่กินรสอะไรมันเลย กินจืดๆ อย่างนี้แหละ ไม่ได้...หนีมันไม่ได้ ไอ้ที่ว่ากินจืดๆ ก็ไปติดจืดๆ อีกนั่นแหละ คนที่ฉลาดบอกอย่างนั้นฉันจะไม่กินอะไรมันเสียเลย...ไม่ได้ ไม่กินอะไรเลยแกมีชีวิตอยู่ไม่ได้ แกต้องกิน อ้าว...ไม่กินก็ไม่ได้จำต้องกิน กินแล้วต้องคอยระวังว่าอย่าให้ติดอันนี้ต่างหาก อย่ากินเพราะติด มีก็กินไม่มีไม่กินก็ได้

...

อาการของการติดคือ ถ้าไม่มีกินแล้วเกิดหวั่นไหวขึ้นในจิต (อยาก) เมื่อไม่ได้ก็ทุกข์ อยากกินแล้วไม่ได้กินแล้วทุกข์ นั่นเรียกว่าติด แต่ถ้าอยากกินแล้วไม่กินก็ไม่เป็นไร มันไม่มีก็แล้วไป อย่างนี้คือไม่ติด ไม่ทุกข์ ไม่ได้อะไรที่มันรูปสวยๆ งามๆ สีสันตามที่ต้องการ ก็ไม่ทุกข์ ยินดีตามสีเดิมรูปเดิม ไม่ได้กินรสชาติที่ปรารถนาแต่มีรสอื่นให้กิน…ก็กิน ไม่ทุกข์เลย ที่ไม่ได้กินอย่างที่ตั้งใจไว้ ... ตรงนี้ต้องฝึก ถ้าฝึกได้ก็ไม่ตกเป็นทาสของรสของรูป กลิ่น เสียง สัมผัส ก็เช่นเดียวกัน